เมื่อพูดถึงช่วงหน้าหนาว หนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราจะนึกถึงนั่นก็คือ เครื่องทำน้ำอุ่น ยิ่งโดยเฉพาะคนที่ขี้หนาวด้วยเนี่ย คงเป็นเรื่องยากที่ต้องทนอาบน้ำเย็นๆในหน้าหนาว เพราะแบบนั้น เครื่องทำน้ำอุ่น จึงกลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่พบเห็นได้ตามบ้านเรือนทั่วไป การอาบน้ำอุ่นกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของผู้คนไม่ว่าจะในสภาพอากาศใด แล้วจะเลือกเครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องทำน้ำร้อน อย่างไรให้เหมาะกับบ้านของเรามากที่สุด วันนี้เราจะมาแนะนำ 5 ข้อง่ายๆที่ควรคำนึงถึงเมื่อมองหาเครื่องทำน้ำอุ่น

1. ประเภทของระบบทำความร้อน
เครื่องทำน้ำอุ่นมีหลากหลายยี่ห้อ หลายรุ่น โดยระบบทำความร้อน หรือหม้อต้ม ที่ทำงานภายในเครื่องทำน้ำอุ่นจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่

ระบบแบบผ่านร้อน เป็นระบบที่ให้น้ำผ่านเข้าในเครื่อง แล้วจะไหลผ่านท่อทองแดง หรือขดลวดที่มีความร้อน ข้อดีของการใช้ระบบแบบนี้จะทำให้น้ำร้อนเร็ว ไม่มีปัญหาของการรั่วซึมของท่อ แต่อุณหภูมิของน้ำจะไม่คงที่เดี๋ยวร้อนไป เดี๋ยวเย็นไปบ้าง และถ้าใช้ไปนานๆ ท่อทองแดงสามารถอุดตันได้และไม่สามารถถอดทำความสะอาดได้
ระบบแบบหม้อต้มทองแดง เป็นเครื่องทำน้ำอุ่นแบบรุ่นเก่า จะมีทองแดงรูปทรงกระบอกอยู่ภายในเครื่อง ทำให้น้ำร้อนเร็วทันใจ แถมความร้อนยังคงที่ อุณหภูมิไม่แกว่งไปมา ตัวเครื่องสามารถทนความร้อนได้ดี มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่ราคาจะค่อนข้างสูง ถ้าใช้ไปนานๆ ตัวหม้ออาจจะเกิดการรั่วซึม หรืออุดตันได้ และไม่สามารถถอดทำความสะอาดได้เหมือนกัน
ระบบแบบหม้อต้มพลาสติก เป็นเครื่องทำน้ำอุ่นที่พัฒนามาจากหม้อต้มทองแดงมาเป็นหม้อต้มพลาสติก ซึ่งเป็นที่นิยมและวางจำหน่ายมากที่สุด ราคาจะถูกกว่าหม้อต้มทองแดง ไม่มีปัญหาในการรั่วซึม แถมยังช่วยลดการอุดตันของท่ออีกด้วย ถ้าวัสดุเป็นพลาสติกกริลลอนที่มีคุณภาพสูง จะทำให้ทนความร้อนได้ดี และยังสามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้ แต่ตัวเครื่องอาจต้องใช้เวลาในการทำความร้อน และบางรุ่นถ้าน้ำไม่ไหลผ่าน ระบบจะไม่ตัดการทำงาน อาจทำให้หม้อต้มพลาสติกข้างในละลายได้
2. ความต้องการในการใช้เครื่องทำน้ำอุ่น ความต้องการในการใช้เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องทำน้ำร้อน สิ่งแรกที่คุณต้องคำนึงถึงเมื่อคิดจะซื้อเครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องทำน้ำร้อน คือความต้องการด้านการใช้งาน อาทิหากคุณอาศัยอยู่ในที่พักประเภทคอนโดมิเนียมหรือเป็นครอบครัวขนาดเล็กและต้องการใช้น้ำอุ่นเฉพาะเวลาอาบน้ำ คุณควรเลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่น single point ที่ทำความร้อนจากเครื่องทำน้ำอุ่น 1 ตัวต่อ 1 จุด แต่หากคุณเป็นครอบครัวใหญ่และต้องการใช้น้ำอุ่นในหลายจุดในบ้าน อาทิ ในห้องอาบน้ำใหญ่ อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำหรือแม้กระทั่งในห้องน้ำสำรอง คุณควรเลือกใช้เครื่องทำน้ำร้อน multi point ที่ให้ความร้อนของน้ำได้หลายจุดพร้อมๆกันผ่านท่อน้ำร้อนและวาล์วผสมที่ติดตั้งไว้ในบ้าน แน่นอนว่าเครื่องทำน้ำร้อน multi point อาจให้ความสะดวกสบายมากกว่า แต่ยิ่งให้ความร้อนหลายจุด พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
3. กำลังไฟที่บ้านของคุณ
เครื่องทำน้ำอุ่นนั้นมีกำลังไฟที่หลากหลายขึ้นอยู่กับความต้องการในการใช้งาน ก่อนเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่น ควรตรวจดูกำลังไฟในบ้านของคุณโดยสังเกตที่มิเตอร์ไฟ ตัวอย่างเช่น หากที่บ้านใช้มิเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 5(15) คุณควรใช้เครื่องทำน้ำอุ่นกำลังไฟไม่เกิน 3500 วัตต์, หากที่บ้านใช้มิเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 15(45) ควรใช้เครื่องทำน้ำอุ่นกำลังไฟไม่เกิน 4500 วัตต์ หรือ 6000 วัตต์ หากชอบการอาบน้ำที่ร้อนเร็วและน้ำแรง ให้เลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีกำลังไฟสูง แต่ถ้าต้องการความประหยัดพลังงาน ก็เลือกที่มีกำลังวัตต์ต่ำจะดีกว่า
ใครหลายๆ คนก็คงจะรู้อยู่แล้วว่า เครื่องทำน้ำอุ่นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ค่อนข้างกินไฟ แต่ใครที่อยากซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นแล้วต้องการประหยัดไฟด้วย อาจต้องเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 แต่ก่อนจะตัดสินใจซื้อนั้น จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เครื่องทำน้ำอุ่นมีกำลังวัตต์ให้เลือกตั้งแต่ 3,500 วัตต์, 4,500 วัตต์ และ 6,000 วัตต์ แต่ละวัตต์จะเหมาะสมกับพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป เช่น
สภาพอากาศปกติ อากาศร้อนมากกว่าหนาว เช่น พื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แนะนำให้เลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่น 3,500 วัตต์
สภาพอากาศที่หนาวเย็นบ่อย เช่น พื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แนะนำให้เลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่น 4,500 วัตต์
สภาพอากาศที่หนาวเย็นมากๆ เช่น พื้นที่บนภูเขา หรือพื้นที่ที่แสงแดดเข้าไม่ถึง แนะนำให้เลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่น 6,000 วัตต์
4. ดีไซน์ หรือฟังก์ชันของเครื่อง ถ้าไม่พูดถึงดีไซน์ของตัวเครื่อง ที่ออกแบบมาให้สวยงามพร้อมกับฟังก์ชันที่ต้องการก็คงจะไม่ได้ เพราะดีไซน์ที่สวยงามก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการตัดสินใจซื้อเช่นกัน ก่อนอื่นให้คุณดูว่าห้องน้ำมีขนาดเท่าไหร่ แล้วห้องน้ำของคุณมีสไตล์เป็นแบบไหน วัตถุประสงค์การใช้งานเป็นอย่างไร เช่น ถ้าคุณอยากได้เครื่องทำน้ำอุ่น ที่ไม่ใช่แค่เอาไว้ใช้ในหน้าหนาว แต่รวมถึงเรื่องของสุขภาพ การกระตุ้นระบบไหลเวียนของเลือด และห้องน้ำมีขนาดกลางๆ ไม่ใหญ่มาก ก็ควรเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่ไม่ใหญ่จนเกินไป และภาพโดยรวมของห้องน้ำเป็นสไตล์มินิมอล ควรจะเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีสีสว่าง อย่างเช่นสีขาว ส่วนหน้าเครื่อง หากต้องการดีไซน์ที่เรียบง่าย อาจเลือกใช้เครื่องแบบที่บนหน้าเครื่องมีเพียงปุ่มเปิด - ปิด และปุ่มหมุนเพื่อปรับระดับอุณหภูมิ ส่วนใครที่เป็นสายไฮเทคอาจเลือกใช้เครื่องแบบที่มีหน้าจอแสดงผลแบบดิจิตอล และเครื่องทำน้ำอุ่นบางรุ่นจะมีฝักบัวแถมมาด้วย สามารถปรับระดับของน้ำได้ตามต้องการ เพื่อให้การไหลของน้ำที่ออกจากเครื่องทำน้ำอุ่นสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งฝักบัวบางรุ่นจะมีสารยับยั้งการเกิดแบคทีเรียอีกด้วย เพียงเท่านี้ก็จะสามารถเลือกดีไซน์ หรือฟังก์ชันของเครื่องทำน้ำอุ่นได้อย่างเหมาะสมแล้ว
5. ระบบรักษาความปลอดภัย
ใครที่เลือกเครื่องทำน้ำอุ่นได้เหมาะสมตามความต้องการของตัวเองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบทำความร้อนที่ใช่ ดีไซน์ที่สวยงาม ฟังก์ชันครบครัน และอีกส่วนที่ไม่ควรมองข้าม คือ ระบบรักษาความปลอดภัยในการใช้งาน ในส่วนนี้ใครยังไม่รู้ว่าจะต้องดูยังไง แล้วแบบไหนถึงจะปลอดภัยสำหรับคุณ
ระบบป้องกันไฟดูด เครื่องทำน้ำอุ่นที่ปลอดภัยจะต้องมีเครื่องป้องกันไฟดูดติดตั้งอยู่ในตัวเครื่อง ซึ่งมีเบรกเกอร์อยู่ 2 ระบบคือ ELCB และELSD เป็นเบรกเกอร์ที่ช่วยกันไฟดูด ตัดกระแสไฟฟ้า หากเกิดกระแสไฟรั่วไหลเพียงเล็กน้อย
ฝาหลังเครื่องทำน้ำอุ่นต้องเป็นโลหะ หากที่ตัวเครื่องไม่มีตัวกันไฟดูด ตัวกล่องด้านหน้าสามารถเป็นพลาสติกได้ แต่ฝาหลังที่ยึดติดกับฝาผนังต้องทำจากโลหะ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไฟรั่ว ไฟจะได้รั่วลงดิน โดยผ่านทางฝาหลังออกไปยังน็อตสกรูที่ยึดติดกับปูน ช่วยลดอันตรายจากเหตุการณ์ไฟรั่วได้
ควรมีสวิตช์ควบคุมอุณหภูมิสำหรับตัดไฟ ควรสังเกตให้ดีว่าเครื่องทำน้ำอุ่นที่เลือกซื้อมานั้น มีสวิตช์ควบคุมอุณหภูมิหรือไม่ เพราะสวิตช์นี้ทำหน้าที่ในการตัดไฟเวลาที่น้ำร้อนได้ที่ หากไม่มีสวิตช์นี้จะต้องคอยระวังให้ดี เพราะหากเผลอเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นทิ้งไว้อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ได้
สวิตช์ควบคุมแรงดันน้ำ สังเกตว่า หากหม้อต้มน้ำร้อนเกิดรั่ว แล้วน้ำที่รั่วนั้นจะไหลลงบนสวิตช์หรือไม่ หากมีโอกาสหยดลงได้ก็ไม่ควรซื้อมาใช้ เพราะอาจทำให้ถูกไฟฟ้าดูดได้ เครื่องทำน้ำอุ่นที่ได้มาตรฐานต้องออกแบบให้สวิตช์ควบคุมแรงดันน้ำ อยู่ในตำแหน่งใต้หม้อต้มน้ำร้อนแบบเยื้องๆ ไม่ใช่ข้างใต้ หากหม้อต้มน้ำร้อนเกิดรั่ว น้ำต้องไม่หยดลงบนสวิตช์ และตัวสวิตช์จะต้องมีวัสดุกันน้ำชนิดคลุมมิดชิด ไม่ควรปล่อยให้เปลือยเปล่า ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ไฟดูดได้
ระบบวัดอัตราการไหลของน้ำ เป็นตัวช่วยตัดการทำงานอัตโนมัติ ถ้าน้ำไหลน้อยมาก หรือไม่มีน้ำไหลเข้าตัวเครื่อง เพราะถ้าน้ำไหลเข้าน้อยมากกว่าที่กำหนด จะสร้างความเสียหายกับหม้อต้ม และตัวทำความร้อนได้
การออกแบบ และติดตั้งอุปกรณ์ภายในของตัวเครื่อง ตัววัสดุที่ทำความร้อนจะต้องหุ้มด้วยฉนวนทนความร้อนสูง คุณภาพดี และฝาครอบเครื่องควรเป็นวัสดุ ABS ที่ทนความร้อนได้สูง ป้องกันการลามไฟ ไม่นำไฟฟ้า และปิดได้สนิท หรือดูจากการรับรองมาตรฐาน IP Code ที่ระบุระดับการป้องกันฝุ่น และน้ำที่เข้าตัวเครื่อง
Comments